Welcome to the Netflix Partner Help Center. Have a question or need help with an issue? Send us a ticket and we'll help you to a resolution.

คู่มือแนะนำสำหรับเสียงอธิบายภาพ v2.5

 

วัตถุประสงค์

เป้าหมาย

1.0 ปัจจัยพื้นฐาน

1.1 ขั้นพื้นฐาน

1.2 อธิบายการกระทำ

        ใคร

        อะไร

        เมื่อไหร่/ที่ไหน

        อย่างไร

1.3 การเซ็นเซอร์

1.4 ความคงเส้นคงวาของคำอธิบาย

2.0 การอธิบายองค์ประกอบบนหน้าจอและเครดิต

2.1 ข้อความบนหน้าจอ

2.2 บทบรรยายสำหรับภาษาต่างประเทศและบทสนทนาที่เข้าใจยาก

2.3 บทบรรยายสำหรับเพลงในภาษาต่างประเทศ

2.4 โลโก้

2.5 ชื่อเรื่องและเครดิต

2.6 เครดิตเสียงอธิบายภาพ

3.0 การให้เสียง

3.1 Casting เสียง

        เพศ

        อายุ

        คุณภาพเสียง

        สำเนียง

3.2 แนวทางการใช้เสียง

3.3 ความคงเส้นคงวาของผู้อธิบาย

4.0 ประเภทเนื้อหา

4.1 เนื้อหาสำหรับเด็ก

4.2 เนื้อหาสยองขวัญ/ระทึกขวัญ

5.0 กลวิธีขับเคลื่อนพล็อต

5.1 การเกริ่นการณ์

5.2 มุมกล้องและการเปลี่ยนช็อต

5.3 มองทาจ

5.4 การเปลี่ยนผ่านของเวลา

6.0 ข้อกำหนดทางเทคนิค

 

วัตถุประสงค์

เอกสารนี้รวบรวมรายการสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามเมื่อสร้างเสียงอธิบายภาพให้แก่ผลงานของ Netflix ทว่าไม่ได้เป็นคู่มือฉบับสมบูรณ์ที่ครอบคลุมการทำงานเสียงอธิบายภาพทั้งหมด โปรดปรึกษาผู้ประสานงาน Netflix ของคุณหากต้องการสอบถามข้อมูลเฉพาะที่ไม่ได้ระบุไว้ในเอกสารฉบับนี้ หรือหากมีข้อปฏิบัติอื่นใดในพื้นที่ของคุณที่ขัดแย้งกับแนวทางที่ระบุไว้ในเอกสารฉบับนี้

 

เป้าหมาย

เพื่อให้สื่อโสตทัศนูปกรณ์เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยการถ่ายทอดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพล็อตและ/หรือข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวละครได้อย่างกระชับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะตกหล่นไปหากผู้รับชมมีความบกพร่องทางการมองเห็น

 

1.0 ปัจจัยพื้นฐาน

1.1 ขั้นพื้นฐาน 

ใช้วิจารณญาณอย่างดีที่สุดและคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องเวลาเมื่อพิจารณาว่าจะต้องให้รายละเอียดมากน้อยแค่ไหน และให้ความสำคัญกับคำอธิบายของตัวละครและการกระทำที่เกี่ยวข้องและสำคัญที่สุดในฉาก อย่าอธิบายมากเกินไป — ห้ามใส่ภาพที่ไม่สำคัญต่อการทำความเข้าใจหรือความเพลิดเพลินในฉาก เหลือพื้นที่ให้กับบทสนทนา ซาวด์เอฟเฟกต์ ดนตรี และความเงียบที่ผู้สร้างตั้งใจใส่เข้าไป ต้องให้ความสำคัญกับบทสนทนาและเพลงประกอบที่เกี่ยวข้องกับพล็อตก่อนเสมอ

 

1.2 อธิบายการกระทำ

เมื่ออธิบายการกระทำ ไม่จำเป็นต้องใส่องค์ประกอบทั้งหมดลงไป พิจารณาว่าสิ่งใดบ้างที่มีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องมากที่สุดโดยไม่ส่งผลเสียต่อประสบการณ์การรับชมของผู้ชม อย่าให้ข้อมูลมากเกินไปหากข้อมูลนั้นไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือหากรายละเอียดเดียวกันนั้นสามารถรับรู้ได้ผ่านบทสนทนาหรือดนตรีประกอบ

 

ใคร

  • เน้นอธิบายตัวละครหลักและตัวละครรองที่เกี่ยวข้อง และอธิบายสิ่งที่มองเห็นได้ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตน บุคลิกภาพ และอุปนิสัยของตัวละคร (ตัวละครหน้าตาเป็นอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร สวมใส่อะไร มีสีหน้าอย่างไร เป็นต้น)
    • เนื้อหาของเรามีตัวแทนที่แสดงความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาว่าจะอธิบายใครและอธิบายอย่างไร ควรพิจารณาจากทั้งความจำเป็นต่อพล็อตและความสำคัญของการเป็นตัวแทน คำอธิบายควรเป็นข้อเท็จจริงและให้ความสำคัญกับคุณลักษณะที่มองเห็นได้ด้วยตาของแต่ละบุคคล เพื่ออธิบายคุณลักษณะเกี่ยวกับตัวตนที่สำคัญที่สุด เช่น สภาพเส้นผม สีผิว สีตา รูปร่าง ความสูง คำอธิบายอายุ (เช่น สามสิบตอนปลาย วัยห้าสิบ วัยรุ่น หรืออื่นๆ) คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความพิการที่มองเห็นได้ด้วยตา และอื่นๆ และใช้หลักการพิจารณาเดียวกันนี้อธิบายตัวละครหลักและตัวละครรองที่เกี่ยวข้องทุกตัว (กล่าวคืออย่าเลือกอธิบายตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเนื่องจากคุณลักษณะเฉพาะบางประการ แต่ให้อธิบายทุกคนเท่าๆ กัน) และใช้แนวทางการเล่าเรื่องแบบ Person-first (เช่น ใช้ "a swimmer with one leg" แทนการใช้ "a one-legged swimmer" เพราะการเป็นนักว่ายน้ำต้องมาก่อน)
    • หากไม่สามารถยืนยันหรือไม่มีระบุไว้ในพล็อตอย่างชัดเจน ห้ามคาดเดาหรือสรุปอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ หรืออัตลักษณ์ทางเพศโดยเด็ดขาด แต่ให้เน้นคุณลักษณะทางกายภาพของแต่ละตัวละครดังที่อธิบายไว้ข้างต้นแทน
  • สำหรับตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง ให้พิจารณาจากความเป็นที่รู้จักหรือไม่รู้จักในประเทศของคุณเพื่อตัดสินใจว่า จะเลือกองค์ประกอบใดมาอธิบาย ซึ่งอาจรวมถึงตัวละครที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงด้วยเช่นกัน (เช่น Leprechaun (ภูติประเภทหนึ่งตามความเชื่อชาวไอร์แลนด์)) 
  • ในกรณีที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาหรือมีข้อมูลมากเกินไป ให้ค่อยๆ อธิบายตัวละครต่างๆ ไปตามการดำเนินเรื่อง
  • คำอธิบายควรระบุความสัมพันธ์ที่เปิดเผยแล้วในเนื้อเรื่อง
  • ตามหลักการแล้ว ไม่ควรเปิดเผยชื่อตัวละครหากตัวละครนั้นยังไม่ถูกแนะนำผ่านบทสนทนาหรือเหตุการณ์ในพล็อต อย่างไรก็ตามคุณสามารถระบุชื่อตัวละครได้ในการปรากฏตัวครั้งแรก หากตัวละครนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Pop Culture หรือเมื่อจำเป็นต่อจังหวะเวลาและการขยายความ รวมถึงเมื่อต้องระบุตัวละครที่อยู่ในกลุ่มใหญ่
    • ห้ามระบุชื่อตัวละครหากผู้สร้างตั้งใจไม่เปิดเผยชื่อ
    • เมื่อต้องระบุชื่อตัวละครเป็นครั้งแรกก่อนที่จะเปิดเผยผ่านบทสนทนา ต้องใส่คำอธิบายลักษณะลงไปก่อนการเปิดเผยชื่อ (เช่น "ชายเครางามนามว่าแจ็ก")

อะไร

  • คำอธิบายควรสื่อถึงสีหน้า ภาษากาย และปฏิกิริยาตอบสนอง โดยเฉพาะเมื่อลักษณะดังกล่าวตรงข้ามกับบทสนทนา องค์ประกอบเหล่านี้สามารถละเว้นได้หากตรงกับบทสนทนาที่ดำเนินอยู่แล้ว
  • อธิบายองค์ประกอบของรูปแบบภาพหรือภาษาภาพยนตร์เมื่อมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องและ/หรือประเภทเนื้อหา (เช่น ฟีเจอร์การจัดวางตัวอักษรที่อาจสื่อความหมายเอาไว้ หรือการเคลื่อนกล้องด้วยมือเพื่อให้ดูสั่นไหว)
  • อธิบายทิศทางการเคลื่อนไหวหากเกี่ยวข้อง
  • คำอธิบายควรระบุให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และหลีกเลี่ยงคำสามัญกว้างๆ และ/หรือชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ยกเว้นว่ามีความสำคัญต่อพล็อต
    • ข้อยกเว้น: หากไม่สามารถยืนยันได้ ห้ามเดาเด็ดขาด ให้ใช้คำทั่วไปแทน (หากคุณไม่สามารถยืนยันได้ว่าเชฟกำลังสับอะไรอยู่ ควรอธิบายว่าสับผักแทนที่จะบอกว่าสับใบพาร์สลีย์ - โปรดปรึกษาผู้ประสานงาน Netflix)
  • ควรกล่าวถึงสีเมื่อเกี่ยวข้องและมีเวลามากพอ
  • แม้ว่าอาจมีบางประเด็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่คำอธิบายไม่ควรใส่ความคิดเห็น ยกเว้นว่าเนื้อหาดังกล่าวจำเป็นต้องมี

 

เมื่อไหร่/ที่ไหน

  • คำอธิบายควรระบุสถานที่ เวลา และสภาพอากาศเมื่อมีความเกี่ยวข้องกับฉากหรือพล็อต
  • เมื่อเลือกระดับของรายละเอียดที่จะใส่ ให้พิจารณาว่าฉากท้องเรื่องดังกล่าวแสดงนัยสำคัญหรือไม่ (เช่น ฉากท้องเรื่องนั้นช่วยสื่อถึงอุปนิสัยของตัวละครหรือไม่) และฉากท้องเรื่องดังกล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับพล็อตมากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ หรือไม่
  • คุณควรใส่คำอธิบายทิศทางของการกระทำที่มองเห็นได้ โดยอ้างอิงจากทิศทางร่างกายของผู้ชม (“หนูตัวนั้นวิ่งไปแอบหลังต้นไม้ที่อยู่ทางขวาของบ้าน”)
  • เมื่อสร้างเสียงอธิบายภาพสำหรับภาษาที่ไม่ใช่ภาษาต้นฉบับ ให้พิจารณาว่าฉากท้องเรื่องนั้นเป็นที่รู้จักหรือไม่รู้จักสำหรับกลุ่มผู้ชมที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ชมในภาษาต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน แล้วอธิบายตามนั้น (การระบุชื่อ vs การอธิบายอย่างละเอียด จะดีที่สุดถ้าคุณสามารถระบุได้ทั้งชื่อและการอธิบายอย่างละเอียดหากมีเวลามากพอ เช่น "ทาวเวอร์บริดจ์ - สะพานที่เป็นป้อมปราการข้ามแม่น้ำเทมส์" หรือ "เขาสวมบาร์ราตินา - หมวกพื้นเมืองสีแดงของแคว้นกาตาลุญญา")

 

อย่างไร

  • คำอธิบายควรให้ข้อมูลและเป็นภาษาสนทนา อยู่ในรูปประโยคปัจจุบันและใช้มุมมองบุคคลที่สาม รูปพหูพจน์ของบุรุษที่สองสามารถใช้ได้หากเกี่ยวข้องกับรูปแบบของเนื้อหา ("เธอหันมาที่กล้องและขยิบตาให้เรา") โดยเฉพาะในรายการสำหรับเด็ก ("เธอกำลังพาเราไปที่ไหนกันนะ")
  • คำศัพท์ควรสะท้อนภาษาหรือสำเนียงหลักของรายการ (เช่น ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน vs ภาษาอังกฤษแบบบริทิช หรือภาษาสเปนแบบยุโรป vs ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน และอื่นๆ) และควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทและน้ำเสียงของเนื้อหา โดยคำนึงถึงกลุ่มผู้ฟังเป้าหมายด้วย
    • เนื่องจากภาษามีวิวัฒนาการอยู่เสมอ ควรระมัดระวังเรื่องการเลือกใช้คำและบริบททางประวัติศาสตร์ของคำนั้น ควรสืบค้นอย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงคำที่แสดงนัยแง่ลบ หรือมีอคติต่อชุมชนใดๆ เป็นพิเศษ หรือเป็นคำล้าสมัยหรือไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป โปรดอ้างอิงบทความ Inclusive and Sensitive Language Guidelines สำหรับภาษาของคุณ รวมถึงคลัง Sensitive Terms ใน Terminology และควรแจ้งผู้ประสานงาน Netflix ของคุณหากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม
  • ระมัดระวังเรื่องการใช้คำกริยา เลือกคำกริยาที่แสดงภาพได้ชัดเจนที่สุดและเข้าใจได้เร็วที่สุดแทนการใช้คำกริยากว้างๆ แล้วใช้คำวิเศษณ์ขยาย (เช่น ใช้ "he hobbles" แทน "he walks with difficulty" เนื่องจาก "hobble" มีความหมายว่า "เดินโซซัดโซเซ" อยู่แล้ว)
  • ใช้คำทั่วไปแทนการอธิบายแบบเต็ม (พลีเอ้ vs การย่อหัวเข่าในการเต้นบัลเลต์)
  • คำสรรพนามควรใช้เมื่อสามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่าคำนั้นหมายถึงใครหรืออะไร โปรดติดต่อผู้ประสานงาน Netflix ของคุณหากต้องการคำอธิบายเรื่องคำสรรพนามที่ควรใช้
  • เมื่อพูดถึงรูปร่างหรือขนาด แนะนำให้เปรียบเทียบกับวัตถุที่คุ้นเคยกันดี ใช้วัตถุที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเพื่ออธิบายขนาด เช่น หลีกเลี่ยงการอธิบายระยะ 100 เมตรว่าเป็นความยาวของสนามอเมริกันฟุตบอลเนื่องจากเป็นการอ้างอิงที่เข้าใจกันได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ให้ใช้ตัวเลือกอื่นที่มีความเป็นสากลกว่านี้
  • คำอธิบายบทสนทนาควรใช้ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เช่น เมื่อพล็อตไม่สามารถคลี่คลายได้อย่างเหมาะสมหากไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมมาช่วย ในสถานการณ์เหล่านี้สามารถอธิบายเสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ บทสนทนาซ้ำๆ หรือดนตรีได้ อย่าอธิบายบทสนทนาหลักหากไม่จำเป็นจริงๆ
  • เนื้อเพลงใช้หลักการเดียวกับบทสนทนา และอธิบายเนื้อเพลงเมื่อจำเป็นเท่านั้น ในกรณีที่ต้องอธิบายเนื้อเพลง ต้องปล่อยให้เพลงได้แสดงตัวตนของตัวเองด้วย หากเนื้อเพลงไม่ได้มีความหมายสำคัญและสิ่งที่มองเห็นขณะนั้นสำคัญกว่า ให้อธิบายถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแทน หากเป็นไปได้ควรใส่คำอธิบายต่อเมื่อเนื้อเพลงเล่นซ้ำ เช่น ช่วงคอรัส เท่านั้น
  • คุณสามารถขัดจังหวะเพลง ซาวด์เอฟเฟกต์ (เช่น เสียงการต่อสู้หรือเสียงระเบิดในฉากแอ็คชั่น) และความเงียบที่จงใจใส่เอาไว้เมื่อมีข้อมูลที่สำคัญมากและจำเป็นต้องอธิบาย ณ เวลานั้นได้เท่านั้น

 

1.3 การเซ็นเซอร์

หลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์: อย่าเซ็นเซอร์ข้อมูลใดๆ คำอธิบายควรบอกข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาเมื่อต้องกล่าวถึงการเปลือยกาย กิจกรรมทางเพศ และความรุนแรง การเลือกภาษาควรสอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมเป้าหมายและระดับเรต (ตามเนื้อหาของรายการ) โปรดติดต่อผู้ประสานงาน Netflix ของคุณหากต้องการความช่วยเหลือในการระบุกลุ่มผู้ชมเป้าหมายและเรตของรายการนั้นๆ

 

1.4 ความคงเส้นคงวาของคำอธิบาย

การเลือกใช้คำ คุณลักษณะของตัวละคร และองค์ประกอบที่มองเห็นได้ (เช่น ชื่อสถานที่) ในคำอธิบายที่อยู่ในผลงานจะต้องตรงกันทั้งหมด รวมถึงระหว่างตอนหรือซีซั่นต่างๆ ด้วย ควรสร้างคลังศัพท์สำหรับรวบรวมคำอธิบายลักษณะทั่วไปเหล่านี้

 

2.0 การอธิบายองค์ประกอบบนหน้าจอและเครดิต

2.1 ข้อความบนหน้าจอ

พิจารณาว่าข้อมูลนั้นปรากฏผ่านองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ในบทสนทนาแล้วหรือไม่ ก่อนที่จะใส่คำอธิบายนั้นลงไป โดยข้อความอาจแสดงผลพร้อมกันหรือไม่ก็ได้ และจะตรงกันทุกคำหรือเรียบเรียงใหม่ก็ได้

สามารถใช้เทคนิคที่ต่างกันได้เพื่อนำเข้าข้อความ เช่น การอธิบาย (“คำปรากฏขึ้นมา”) การเปลี่ยนน้ำเสียงเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างการอ่านข้อความกับคำอธิบายจริงๆ หรือการใช้เสียงที่แตกต่างกัน ติดต่อผู้ประสานงาน Netflix ของคุณก่อนการ Cast เสียงเพิ่มเติม

ข้อจำกัดความรับผิดชอบทางกฎหมายควรอ่านตรงตัว

 

2.2 บทบรรยายสำหรับภาษาต่างประเทศและบทสนทนาที่เข้าใจยาก 

การนำเข้าบทบรรยาย (Subtitle) ควรใช้เทคนิคเดียวกันกับข้อความบนหน้าจอ (การอธิบาย ชื่อผู้พูด การเปลี่ยนน้ำเสียง และการใช้หลายเสียง) คำอธิบายควรตรงกับบทบรรยายแบบคำต่อคำ ควรเบาเสียงของบทสนทนาต้นฉบับลง แต่ยังคงให้ผู้ชมพอได้ยินเสียงบทสนทนาต้นฉบับอยู่ในพื้นหลัง ระบุว่าเป็น "บทบรรยาย" ได้หากจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน (เช่น ครั้งแรกที่ปรากฏบนหน้าจอ) และระบุอีกครั้งหากระยะเวลาระหว่างที่บทบรรยายปรากฏนั้นห่างกันมาก

บทบรรยายสำหรับบทสนทนาที่เข้าใจยากควรรวมไว้ในคำอธิบายด้วยต่อเมื่อเสียงนั้นฟังไม่ได้ศัพท์ หลีกเลี่ยงการอธิบายบทสนทนาที่สามารถเข้าใจได้จากเวอร์ชันต้นฉบับ

สำหรับผลงานที่มีบทบรรยายเยอะอาจต้องใช้เสียงหลายเสียงเข้ามาช่วยในการแยกผู้พูดแต่ละคน ติดต่อผู้ประสานงาน Netflix ก่อนการ Cast เสียงเพิ่มเติม

 

2.3 บทบรรยายสำหรับเพลงในภาษาต่างประเทศ

หากเนื้อเพลงมีความสำคัญต่อพล็อตและมีบทบรรยายเรียบร้อยแล้ว ควรอ่านเนื้อเพลงด้วยเสียง AD ไม่ควรร้องเนื้อเพลงออกมา แต่ต้องกำหนดเวลาให้พอดีกับจังหวะของเพลงให้ได้มากที่สุด โดยที่ยังเก็บวลีสำคัญของต้นฉบับไว้ให้ได้ยินอยู่

หากเนื้อเพลงต้นฉบับไม่มีบทบรรยายมาให้ แต่มีความสำคัญต่อพล็อต ให้ทำเหมือนเป็นบทสนทนา (ห้ามพูดทับ)

 

2.4 โลโก้ 

หากมีเวลาพอ ควรใส่คำอธิบายโลโก้ที่ปรากฏบนหน้าจอเพื่อระบุชื่อสตูดิโอหรือบริษัท และรายละเอียดของภาพ ตรวจสอบคำอธิบายโลโก้ให้ตรงกันเนื่องจากโลโก้อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป

หากมี Netflix Ident ปรากฏ ควรอธิบายตามเอกสาร Netflix Original Credits (เครดิตผลงานจาก Netflix)

 

2.5 ชื่อเรื่องและเครดิต

คำอธิบายควรระบุเครดิตเปิดและปิดรายการ โดยปรับน้ำเสียงให้ไม่ดึงความสนใจมากเกินไป แต่หากเครดิตขัดจังหวะบทสนทนาหรือการกระทำเนื่องจากปรากฏขึ้นพร้อมกัน คุณก็สามารถปรับจังหวะเวลาได้ เช่น การจัดกลุ่มเพื่ออธิบายข้อความก่อนหรือหลังเครดิตปรากฏบนจอจริงๆ การใส่เครดิตจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและสามารถย่อได้หากมีเวลาจำกัด ให้ความสำคัญกับเครดิตตามลำดับที่ปรากฏ และพยายามใส่เครดิตตำแหน่งต่อไปนี้ให้ครบในช่วงเครดิตเปิดและ/หรือปิดรายการ

  • ผู้สร้าง, ผู้เขียน, ผู้กำกับ, นักแสดงหลัก, ผู้อำนวยการผลิต, ผู้อำนวยการบริหารการผลิต, ผู้กำกับภาพ, นักตัดต่อ, ดนตรีและเสียงโดย

หากไม่สามารถอ่านเครดิตได้ทั้งหมด แต่ยังพอมีเวลา ให้ระบุว่ามีการแก้ไขด้วยประโยคที่มีความหมายเช่น "ตามด้วยเครดิตอื่นๆ"

เมื่อต้องสร้างเสียงอธิบายภาพ (AD) สำหรับภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาต้นฉบับ (เช่น AD ที่ผสมกับการพากย์) ให้ระบุเครดิตด้านบนต่อเมื่อเครดิตเหล่านั้นอยู่ในภาษาเดียวกันกับ AD ที่คุณกำลังสร้าง สำหรับกรณีอื่นให้ระบุว่า เครดิตปรากฏในภาษาอื่นด้วยประโยคที่มีความหมายเช่น "เครดิตเปิดปรากฏเป็นภาษาญี่ปุ่น" หากมีเวลาพอ โปรดอ่านเครดิตที่ปรากฏใน Dub Card หลังเครดิตที่ระบุไว้ด้านบน หรือแทนที่เครดิตนักแสดงหลักในชุดเครดิตเดิม

แนะนำชื่อเรื่องของผลงานด้วยการระบุว่าเป็น "ชื่อเรื่อง" ก่อนพูดชื่อ สามารถอธิบายการจัดวางตัวอักษรได้หากมีความสำคัญกับผลงานนั้นๆ เมื่อสร้างเสียงอธิบายภาพ (AD) สำหรับภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาต้นฉบับ (เช่น AD ที่ผสมกับการพากย์) ให้ใช้คำแปลชื่อเรื่องหลักที่ Netflix อนุมัติแล้วตามที่ปรากฏใน Terminology Tool

 

2.6 เครดิตเสียงอธิบายภาพ

ระบุเครดิตสตูดิโอผู้ผลิต AD ในขั้น Post, ผู้เขียนบทอธิบาย และ Voice Talent ไว้ใน AD Track หลังเฟรมสุดท้ายของตัวผลงานจริงและก่อนชุดเครดิตปิดเรื่อง หากมีเวลาจำกัดหรือมีองค์ประกอบเพิ่มที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตัวผลงานจริง (ตัวอย่างภาพยนตร์ล่วงหน้า) ให้ติดต่อผู้ประสานงาน Netflix ของคุณเพื่อพิจารณาว่าควรใส่เครดิตไว้ตรงไหน

 

3.0 การให้เสียง

3.1 Casting เสียง

ควรเลือกเสียง AD ตามหมวดหมู่ต่อไปนี้:

 เพศ

เพศของเสียง AD ควรเลือกให้สอดคล้องหรือแตกต่างจากเสียงส่วนใหญ่ในภาพยนตร์ บางคนคิดว่าควรทำให้ผู้ชมแยกออกระหว่างเสียงบทสนทนากับเสียงผู้อธิบาย แต่บางคนก็คิดว่าควรเลือกเสียงให้ตรงกับเสียงส่วนใหญ่ในเนื้อหาตามประเด็นของเนื้อเรื่อง เรื่องนี้จึงควรพิจารณาเป็นกรณีไป

 

อายุ

อายุของเสียง AD ควรตรงกับเนื้อหาและอายุของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย เช่น เสียงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวนั้นเหมาะกับเรื่อง Sex Education (เพศศึกษา (หลักสูตรเร่งรัก)) ส่วนเพศของเสียงนั้นอาจไม่มีความสำคัญมากนักในกรณีนี้ ข้อยกเว้นคือรายการสำหรับเด็กเล็กที่ควรใช้เสียงอ่อนโยนจะดีที่สุด

 

คุณภาพเสียง

คุณภาพของเสียง AD ควรตรงกับอารมณ์หลักของเนื้อหา เช่น เสียงหวานเจื้อยแจ้วสำหรับเรื่องราวความรัก หรือเสียงแหบห้าวสำหรับเนื้อหาแนวคาวบอย

 

สำเนียง 

สำเนียงของเจ้าของเสียงควรตรงกับสำเนียงหลักของรายการ (เช่น ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน vs ภาษาอังกฤษแบบบริทิช หรือภาษาสเปนแบบยุโรป vs ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน และอื่นๆ)

 สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าลักษณะของเสียงคือ Voice Talent ควรมีความเข้าใจในเนื้อหาของรายการ และสามารถสื่ออารมณ์ของฉากนั้นๆ ได้

การมีเสียง AD มากกว่าหนึ่งเสียงเพิ่มความเป็นไปได้ทางความคิดสร้างสรรค์ในการทำ AD ปรึกษาผู้ประสานงาน Netflix ของคุณก่อนการ Cast เสียงเพิ่มเติม

 

3.2 แนวทางการใช้เสียง

การใช้เสียงอธิบายภาพควรตรงกับระดับเสียง ความเร็ว โทนอารมณ์ และจังหวะของเนื้อหา

  • เสียง - หลีกเลี่ยงการใช้เสียงระดับเดียวหรือเป็นจังหวะราวกับร้องเพลง เสียงของผู้บรรยายจะต้องแตกต่างจากเสียงอื่นๆ ในเนื้อหานั้น แต่ก็ไม่ควรดึงความสนใจหรือมีชีวิตชีวามากเกินไปจนกลบเสียงของตัวแสดง ยกเว้นเนื้อหาจะระบุไว้ว่าให้เป็นเช่นนั้น สำหรับผลงานบางชิ้น ผู้ประสานงาน Netflix ของคุณอาจระบุวิธีการใช้เสียงโดยเฉพาะมาให้ โดยขึ้นอยู่กับประเภทของเนื้อหา (เช่น ใช้เสียงที่แสดงความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นสำหรับผลงานเรื่องแต่งที่สะเทือนอารมณ์)
  • การออกเสียงและความเร็วในการพูด - พูดให้ชัดเจนและในระดับความเร็วที่สามารถเข้าใจได้ อย่าพูดเร็วหรือช้าเกินไป หากเป็นไปได้ ความเร็วของคำอธิบายควรตรงกับความเร็วของฉาก ในฉากโรแมนติก คำอธิบายควรลื่นไหลอย่างสบายๆ และปล่อยให้มีความเงียบหรือการเว้นจังหวะบ้างเมื่อจำเป็น แต่หากเป็นฉากการต่อสู้หรือไล่ล่า การพูดก็ควรเร็วขึ้นและตะกุกตะกักมากกว่า

 

3.3 ความคงเส้นคงวาของผู้อธิบาย

ควรใช้ Voice Talent คนเดิมในทุกตอนและทุกซีซั่นของซีรีส์ รวมถึงภาพยนตร์ภาคต่อหากเป็นไปได้ ปรึกษาผู้ประสานงาน Netflix ของคุณหากคุณไม่สามารถว่าจ้าง Voice Talent คนเดิมต่อได้ หรือหากคุณคิดว่าการเปลี่ยน Voice Talent เหมาะสมกับประเภทเนื้อหามากกว่า (เช่น ซีรีส์รวมเรื่อง (Anthology))

 

4.0 ประเภทเนื้อหา

พิจารณาประเภทเนื้อหา รูปแบบภาพ และฉากท้องเรื่องในแง่ปริภูมิกาล (สถานที่และเวลา) รวมไปถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายของผลงานนั้นๆ เลือกคำและสำนวนที่มาจากวงศ์คำศัพท์เดียวกัน โปรดศึกษาบทถ่ายทำต้นฉบับ/บทภาพยนตร์ต้นฉบับหากจำเป็นและสามารถทำได้

4.1 เนื้อหาสำหรับเด็ก

น้ำเสียงและคำศัพท์ควรตรงกับช่วงอายุของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย และรูปแบบที่สื่อถึงความสนิทสนมมากขึ้นอาจเหมาะสมกับเนื้อหาสำหรับเด็ก หากเป็นสื่อการเรียนรู้หรือเป็นสถานการณ์ที่ผู้ชมต้องปฏิบัติตามการกระทำบางอย่างของตัวละครที่ปรากฏบนหน้าจอ คำอธิบายต้องชัดเจนเพื่อให้ผู้ชมที่มีความต้องการพิเศษด้านการมองเห็นเข้าใจได้ว่า ตัวละครกำลังพูดกับตัวเองอยู่ (“แก่เรา” หรือ “พวกเราลองดูกันเถอะ”) ไม่ใช่ว่ากำลังพูดกับตัวละครบนหน้าจอด้วยกัน 

 

4.2 เนื้อหาสยองขวัญ/ระทึกขวัญ

คำอธิบายควรคำนึงถึงจังหวะที่ตั้งใจหยุด ความเงียบที่เร้าอารมณ์ และโน้ตดนตรี เพื่อให้ผู้ชมที่มีความต้องการพิเศษด้านการมองเห็นได้รับประสบการณ์การสร้างอารมณ์ระทึกขวัญได้แบบเดียวกับที่งาน Production ต้องการสื่อ จึงควรคำนึงถึงเรื่องนี้ในการใช้เสียงด้วย

 

5.0 กลวิธีขับเคลื่อนพล็อต

แม้จะไม่ควรใช้ศัพท์เฉพาะทางหรือศัพท์เทคนิค แต่ศัพท์เฉพาะในวงการภาพยนตร์บางคำที่ใช้ในวงกว้างจนกลายเป็นศัพท์ทั่วไปก็สามารถใช้ได้เมื่อจำเป็นกับจังหวะเวลา หรือเมื่อสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง และ/หรือประเภทเนื้อหา (เช่น "กำลังโคลสอัปในตอนนี้)

5.1 การเกริ่นการณ์

แนะนำให้คุณอธิบายไปพร้อมกับภาพที่ปรากฏโดยเฉพาะในสถานการณ์ตลกขบขัน อย่างไรก็ตาม คุณสามารถปรับจังหวะเวลาของคำอธิบายได้ (คำอธิบายล่วงหน้า) เพื่อแนะนำองค์ประกอบพล็อตล่วงหน้า ในกรณีที่ไม่มีวิธีอื่นในการให้ข้อมูลเนื้อหาแก่ผู้ชมได้อย่างสมเหตุสมผลเลยนอกจากวิธีนี้

 

5.2 มุมกล้องและการเปลี่ยนช็อต

หากการเปลี่ยนช็อตมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจฉากนั้นๆ ให้ระบุถึงการเปลี่ยนช็อตโดยอธิบายสถานที่ที่เกิดการกระทำหรือสถานที่ที่ตัวละครนั้นปรากฏอยู่ในช็อตใหม่ มุมกล้องหรือมุมมองควรระบุในคำอธิบายเฉพาะในกรณีที่เหมาะสมกับเนื้อหาเท่านั้น (“จากด้านบน” และ “มุมสูง”)

 

5.3 มองทาจ

หากมีเวลาพอ ให้อธิบายมองทาจของภาพหรือชุดของภาพนิ่ง หากภาพดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องแต่เวลามีจำกัด ให้เน้นภาพสำคัญที่สุด 2-3 ภาพ

 

5.4 การเปลี่ยนผ่านของเวลา

ต้องระบุการเปลี่ยนแปลงของเวลาที่เกี่ยวข้องกับตัวละครเสมอ หากต้องอธิบายการเปลี่ยนผ่านของเวลาบางอย่าง เช่น การเล่าเรื่องย้อนอดีตหรือความฝัน ให้อธิบายสิ่งชี้นำทางสายตาที่ระบุการเปลี่ยนแปลง และต้องอธิบายตรงกันตลอดทั้งรายการ

 

6.0 ข้อกำหนดทางเทคนิค 

ควรมิกซ์คำอธิบายให้ฟังเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาต้นฉบับ คำอธิบายควรมิกซ์ลง Center Channel สำหรับการมิกซ์ 5.1 โปรดอ้างอิงเอกสารสเปกทางเทคนิคของเราเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมิกซ์

  • สำหรับ 5.1 พรินต์มาสเตอร์ (PM) ปรับ Center Channel ให้เบาลงเฉพาะอีเวนต์คำอธิบายเสียง สำหรับส่วนที่มีเสียงดังมากหรือภาพยนตร์ที่มีขอบเขตรายละเอียดของภาพกว้างมาก สามารถเบา Left Channel และ Right Channel ของ 5.1 PM ได้เช่นกัน โดยทั่วไปไม่ควรลดเกิน -6db และสามารถลดลงได้มากที่สุด -12db เมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
  • สำหรับ 2.0 พรินท์มาสเตอร์สามารถเบาเสียงทั้ง 2 Channel ได้ตามด้านบน
  • เวอร์ชันต้นฉบับ/PM สามารถปรับเบาลงด้วยตนเองได้ การพากย์เสียง/AD ไม่ควรปรับขึ้นเกินข้อกำหนดความดังของ Netflix เพื่อกลบอีเวนต์ที่มีเสียงดังมากในเสียงพรินท์มาสเตอร์
  • เบาเสียงมิกซ์เวอร์ชันต้นฉบับลง 6-12 dB ตามดุลยพินิจของ Mixer เสียง AD/VO ควรชัดเจนและฟังรู้เรื่อง โดยที่ยังได้ยินบทสนทนาเวอร์ชันต้นฉบับในเนื้อหาด้วย ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับไดนามิกของเวอร์ชันต้นฉบับ/PM และเสียงที่ได้ยินจากมิกซ์เมื่อรวมเข้ากับการพากย์เสียง AD
  • คอมเพรสเซอร์พ่วงไม่ควรมีแอทแท็คไทม์สั้นกว่า 2ms และยาวกว่า 15ms ใช้วิจารณญาณของคุณในการหลีกเลี่ยงเสียงรบกวนจากการบีบอัด เช่น เสียงสั่นเป็นจังหวะหรือเสียงปะทุ เป้าหมายคือเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่กลมกลืนเป็นธรรมชาติ
  • ระดับของมิกซ์ควรเป็นไปตามข้อกำหนดความดัง LKFS และ True Peak ของ Netflix
  • การเปลี่ยนแปลงระดับมิกซ์ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเสียงหรือเบาเสียงสำหรับอีเวนต์คำอธิบายนั้นไม่ควรเกิน 5 วินาที อย่าเปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือใช้ระดับเสียงที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพื่อสร้างประสบการณ์การรับชมที่ต่อเนื่อง
  • ในส่วนของ EQ และการประมวลผลแบบไดนามิก - การพากย์เสียง (VO) ควรฟังดูเป็นธรรมชาติ การอัดเสียงที่ดีจะช่วยลดความจำเป็นในการประมวลผลด้วย EQ และการบีบอัดแบบไดนามิก หลีกเลี่ยงการประมวลผลที่มากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ฟีเจอร์ลดเสียงรบกวน เนื่องจากเสียงอัดน่าจะค่อนข้างชัดเจนไม่มีเสียงรบกวนอยู่แล้ว (การใช้ฟีเจอร์ลดเสียงรบกวนอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดร้ายแรงได้หากใช้เกินความจำเป็น)

 

 

บันทึกการเปลี่ยนแปลง

2023-04-27

  • เพิ่มลิงก์เอกสาร Inclusive and Sensitive Language Guidelines และ Sensitive Terms
  • อัปเดตคำสั่งเกี่ยวกับชื่อเรื่องและเครดิตสำหรับ AD ในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาต้นฉบับ
  • อัปเดตเครดิตเสียงอธิบายภาพ และย้ายไปยังหัวข้ออื่น
  • อัปเดตความคงเส้นคงวาของผู้อธิบาย
  • ย้ายข้อกำหนดทางเทคนิคไปยังหัวข้ออื่น

 

 

Was this article helpful?
0 out of 0 found this helpful